-
หลังจาก 1 เดือน
คุณจะต้องจ่าย บ. -
หลังจาก 6 เดือน
คุณจะต้องจ่าย บ. -
หลังจาก 1 ปี
คุณจะต้องจ่าย บ. -
หลังจาก 5 ปี
คุณจะต้องจ่าย บ.
เป็นเรื่อง “ตลกร้ายขำไม่ออก”กับคำกล่าวที่ว่า “เมื่อโควิดมาอุบัติเหตุทางถนนก็ซาไป..แต่เมื่อโควิดคลี่คลายคนไทยก็เจ็บ-ตายบนถนนกันเป็นเบือเหมือนเดิม” โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19ระลอกแรก ในขณะนั้นด้วยความเป็นโรคอุบัติใหม่ รัฐบาลจึงต้องใช้ “ยาแรง”ด้วยมาตรการ “ล็อกดาวน์ (อย่างเข้มข้น)” ทั่วประเทศ ตัดการเดินทาง ปิดกิจการต่างๆ เพื่อทำให้ประชาชนเคลื่อนย้ายเดินทางน้อยที่สุด ไปจนถึงการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดช่วงครึ่งหลังของเดือนเม.ย. 2563 เพื่อตัดการรวมกลุ่มสังสรรค์
มาตรการทั้งหมดถูกใช้เพื่อควบคุมไม่ให้โรคระบาดกระจายเป็นวงกว้าง แต่ผลพลอยได้คือเมื่อคนเดินทางน้อยลง รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ปริมาณอุบัติเหตุบนท้องถนนก็เบาบางลงด้วย เห็นได้จากข้อมูลของ “ThaiRAP” หรือ Thailand Road Assessment Programme ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กับองค์กร International Road Assessment Programme (iRAP) ที่มีภารกิจวิเคราะห์และประเมินผลความปลอดภัยของถนนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในช่วงต้นเดือนมิ.ย. 2563 ThaiRAP ได้เผยแพร่ผลวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุบนท้องถนนของไทย ช่วงระหว่างรัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์ ลดกิจกรรมรวมกลุ่มและการเดินทางเพื่อสกัดการระบาดของไวรัสโควิด-19 กับช่วงที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยระบุว่า
“..ตั้งแต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้นับเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว สถานการณ์อุบัติเหตุบนถนนไทยที่ช่วงแรกดูเหมือนจะลดลงมาก แต่เมื่อมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ สถิติอุบัติเหตุก็เริ่มกลับมาสูงขึ้นเรื่อยๆ อาทิ จำนวนผู้เสียชีวิต 840 คนในเดือนเม.ย. 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 1,005 คน ในเดือนพ.ค. 2563 (เพิ่มขึ้น19.6%) ในขณะที่จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ 52,141 คน ในเดือนเม.ย. 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 67,063 คนในเดือนพ.ค. 2563 (เพิ่มขึ้น 28.6%)
นอกจากนี้ หากดูข้อมูลรายสัปดาห์ ก็จะพบชัดเจนว่าแนวโน้มความปลอดภัยทางถนนเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ และกำลังกลับคืนเข้าสู่ภาวะก่อนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. ที่ผ่านมา เรากำลังกลับสู่ Old Normal? 1 เดือนหลังล็อกดาวน์ จำนวนผู้เสียชีวิต -41% จำนวนผู้บาดเจ็บ-40% จาก Baseline, 2 เดือนหลังล็อกดาวน์ จำนวนผู้เสียชีวิต -35% จำนวนผู้บาดเจ็บ -30% จากBaseline ข้อมูลเปรียบเทียบกับ Baseline โดยใช้ค่ามัธยฐานของข้อมูลช่วง 1 เดือน ก่อน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (25 ก.พ. 2563-25 มี.ค. 2563)..”
เปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในช่วงล็อกดาวน์และคลายล็อกในปี 2563
เมื่อช่วงต้นเดือนก.ย. 2564 ที่ผ่านมา มีการจัดเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ“ร่วมสร้างตำบลขับขี่ปลอดภัย ไปกับหมออนามัยในสถานการณ์โควิด-19”โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ ซึ่ง รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสสส. กล่าวว่า จากข้อมูลบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พบมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน อยู่ประมาณ 20-60 รายต่อวัน หรือกว่า 2 หมื่นรายต่อปี
ซึ่งหากไม่ลดจำนวนผู้เสียชีวิตรายวัน จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ เพราะต้องดูแลค่าใช้จ่ายผู้เสียชีวิตค่ารักษาพยาบาล ครอบครัวผู้สูญเสียเสาหลัก ล้วนเป็นปัญหาสุขภาวะ ดังนั้นต้องหาวิธีป้องกันให้ได้ โดยในช่วงกลางปี 2563 ที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 และใช้มาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงมาตรการงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถลดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับได้ด้วย ในขณะที่ปลายปี 2563 เช่นกัน มีการยกเลิกการตั้งด่านตรวจเมาแล้วขับ ก็ทำให้การเกิดอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานการณ์การลดอุบัติเหตุทางท้องถนนมีแนวโน้มลดลง โดยปี 2563 มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 17,831 ราย หรือลดลงร้อยละ 10 จากปี 2562 ส่วนปี 2564 ข้อมูลถึงเดือนส.ค. เสียชีวิต 8,862 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 49 รายต่อวัน จากเดิมเฉลี่ยวันละ 60 ราย ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่ง จากบทเรียนข้างต้นทำให้เห็นว่า มาตรการที่ใช้ลดการระบาดของไวรัสโควิด-19 สามารถนำมาพิจารณาใช้ในการลดอุบัติเหตุทางถนนได้เช่นกัน อาทิ การลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการเพิ่มการตั้งด่านตรวจเมาแล้วขับ
“การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการทั้งประเทศไม่ใช่ทำแค่ส่วนกลาง เพราะข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขปี 2562 สรุปมี 283 อำเภอเสี่ยง หรือร้อยละ 32 ของอำเภอทั่งประเทศ มีการคำนวณคร่าวๆ ว่าหากดูแลได้ดี จะสามารถลดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้ถึงร้อยละ 65 โดยอำเภอที่มีความเสี่ยงเสี่ยงส่วนใหญ่เป็นอำเภอเมือง เพราะที่มีพื้นที่กว้าง จึงทำให้ความเสี่ยงหลากหลายทั้งคน รถ ถนน การดำเนินการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุอาจทำได้ยาก” ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยง สสส. กล่าว
ขณะที่ บุญเรือง ขาวนวล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ (วิทยาเขตพัทลุง) ซึ่งมีอีกบทบาทหนึ่งคือ “นายกสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ” กล่าวว่า หน้าที่ของเครือข่ายฯ คือการให้โจทย์และความรู้ทางวิชาการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนทำงาน สร้างโอกาส ซึ่งจากนี้การจัดการเรื่องสุขภาพจะอยู่ที่ชุมชน
โดยหากพูดถึงหมออนามัยในชุมชนก็จะเป็นที่รู้จัก เป็นบุคคลที่ชาวบ้านในชุมชนให้ความสำคัญ “หน้าที่ของเครือข่ายหมออนามัย คือการเป็นกระบอกเสียงให้ความรู้” สร้างการตื่นรู้ให้กับคนในชุมชนได้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยในชุมชน รวมทั้งการดูแลและป้องกันปัจจัยเสี่ยงในด้านต่างๆ เช่น เหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ และการป้องกันโรค ดังนั้นบทบาทของหมออนามัยถือเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนงานตำบลขับขี่ปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
“จะทำอย่างไรให้พลเมืองตื่นรู้มาทำให้ชุมชนของตัวเองน่าอยู่ ปลอดภัย และมีความสุขกันทุกฝ่าย แม้จะมีอุปสรรคการทำงานบ้างแต่ประเมินแล้วคนให้คะแนนเกือบเต็ม 100 เพราะคนทำงานไม่มีท้อ แต่มีการปรับการทำงานให้เข้ากับสถานการณ์ โดยเฉพาะตอนนี้มีโควิดระบาดก็ปรับการทำงานให้เชื่อมโยงครอบคลุมป้องกันโรค และการลดอุบัติเหตุทางถนนควบคู่กันไป”บุญเรือง กล่าว
จากภาคใต้ขึ้นมายังภาคกลาง ธนาธิป บุญญาคม นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ตำบลสระพัฒนา จ.นครปฐมกล่าวถึง “จุดเด่น” ของหมออนามัย ว่า “หมออนามัยมีความใกล้ชิดและรู้จักพื้นที่ชุมชนของตนเอง” ทำให้สามารถขับเคลื่อนงานนโยบายกระทรวง ระดับประเทศ จังหวัด และระดับพื้นที่ ในเรื่องการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมถึงงานลดอุบัติเหตุทางท้องถนน
อีกทั้งยังขยายต่อการทำงานให้กับหมออนามัยรุ่นสู่รุ่น เรียกว่ายุทธศาสตร์ความดีต่อความดี เลือกจุดเสี่ยงแก้ปัญหาพื้นที่ และแก้ไขพฤติกรรมของคน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน จึงเข้าไปทำงานให้ความรู้ในโรงเรียน จากเดิมทำงานแบบจิตอาสาก็มีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น รับลูกไปดำเนินการต่อทำให้งานป้องกันอุบัติเหตุเติบโต มีเจ้าภาพในชุมชน นับเป็นการฟอร์มทีมการทำงานเพื่อรองรับกับการสู้กับภัยสุขภาพต่างๆ ได้
ด้านภาคตะวันออก ดวงสมร ดวงใจ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน สำนักงานสาธารณสุข อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เปิดเผยว่า อ.อรัญประเทศ เป็น 1 ใน 3 อำเภอที่มีอุบัติเหตุและเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดใน จ.สระแก้ว จึงได้เข้าร่วมโครงการตำบลขับขี่ปลอดภัย ทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คลองน้ำใส โดยเริ่มวิเคราะห์จุดเสี่ยงในพื้นที่ วิเคราะห์ปัญหาชุมชน และดูความพร้อมเดิมที่มีอยู่ ก่อนวางแผนแก้ปัญหา
“เริ่มจากจุดเสี่ยงในพื้นที่ที่แก้ไขได้ง่ายก่อน แล้วดำเนินการแก้ไขโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก เช่น แขวงการทาง ดูแลเรื่องถนนต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การนำยางรถยนต์เก่ามาทำแบริเออร์ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ หลังจากทำได้ 1 สัปดาห์ ช่วยชีวิตคนได้ 4 คน ขณะนี้มีการขยายการทำงานไปยังพื้นที่อื่นๆ มากขึ้น” ดวงสมร ระบุ
ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ภาคอีสาน) อภิชาต เมืองไชย เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญการรพ.สต.สาธารณสุข อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย กล่าวว่า ยังคงมีประชาชนที่ติดโควิดและทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาทุกวัน จึงต้องทำทั้งเรื่องการดูแลผู้ติดเชื้อ ควบคุมป้องกันโรค การขับขี่ปลอดภัย ควบคู่กันไป โดยทางฝ่ายปกครองรัตนวาปีเลือกพื้นที่นี้ และประกาศเป็นพื้นที่ขับขี่ปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนตระหนัก
“มีการอบรมนักเรียน ผลักดันขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ เช่น ได้มีการจัดทำ พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ต่างตำบล โดยดำเนินการแล้วใน 2 ตำบล รอสถานการณ์โควิด-19คลี่คลายจะขยายไปยังตำบลอื่นๆ มากขึ้น” อภิชาต กล่าว
https://www.naewna.com/local/602059
17 ก.ค. 65 / อ่าน 1728
15 ก.ค. 65 / อ่าน 1621
14 ก.ค. 65 / อ่าน 1715
12 ก.ค. 65 / อ่าน 1622
12 ก.ค. 65 / อ่าน 972
12 ก.ค. 65 / อ่าน 883